รู้หรือไม่ว่า เวลาเราเครียด ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป หัวใจจะเต้นแรง เร็ว แต่ไม่เป็นจังหวะ เส้นเลือดบีบตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่วนกระเพาะอาหารของเราก็จะหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ลำไส้บีบตัวอย่างรุนแรง ฯลฯ
อาการของโรคเครียดลงกระเพาะ ของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไปดังนี้
– ปวดท้อง หรือมวนท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวจะบรรเทา หรือหายไปเมื่อถ่ายอุจจาระ
– ถ่ายอุจจาระมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
– ต้องเบ่งถ่าย หรือกลั้นไม่อยู่ หรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด
– ปวดบริเวณลิ้นปี่
– มีอาการท้องอืด หรือรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะมาก
– คลื่นไส้อาเจียนหลังอาหาร
ถึงแม้ว่าอาการดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาการเครียดลงกระเพาะก็ส่งผลให้ ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลงเป็นอย่างมาก
วิธีการรักษาโรคเครียดลงกระเพาะ วิธีการรักษาโรคนี้จะต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ด้วยการคลายความเครียดด้วยวิธีการ ดังนี้
1. เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ถ้าความเครียดของเราเกิดจากเกิดจากการหมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ในอดีต หรือมัวแต่คิดถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงแล้วล่ะก็ การหมั่นดึงจิตใจให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับความจริง และคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ และมีสติ จะช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี
2. หัดระบายความรู้สึกออกมาบ้าง การได้เล่าความเครียดให้คนอื่นฟัง หรือ จดลงในบันทึกส่วนตัวเป็นอีกวิธีง่ายๆที่จะเอาความเครียดออกไปจากตัวของเรา
3. ออกกำลังกาย เพราะทุกครั้งที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดฟิน ออกมาทำให้เรารู้สึก สบายใจ ลดความวิตกกังวลลง
4. ลองตื่นแต่เช้า แล้วลงไปเดินเล่นสวนสาธารณะ สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด เป็นการเพิ่มพลังให้กับตัวเอง จะทำให้เราพร้อมที่จะแก้ทุกปัญหาที่จะเข้ามา โดยที่ไม่มีความเครียดมารบกวนได้
5. หัดปล่อยวางซะบ้าง ถ้าเจอปัญหาที่มันหาทางออกไม่ได้จริงๆ วิธีที่ดีที่สุดคือ วางมันลงไว้ก่อน แล้วถอยหลังออกมาตั้งหลัก สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ผ่อนคลาย เมื่อเราพร้อมค่อยกลับมาดูมันอีครั้ง บางทีในครั้งหลังเราอาจจะพบทางออกก็ได้